ทุกอย่างที่เราเคยทำ เคยผ่าน หรือ เคยมีประสบการณ์มาแล้ว เรามักจะคิดว่าตัวเองถูก เพราะเรา “มีประสบการณ์”
สังคมไทยสอนให้ “ประสบการณ์” คือ “ความถูกต้อง” ตัวอย่างที่มีให้เห็นก็จากคำสุภาษิตต่างๆ เช่น “เดินตามหลังผู้ใหญ่ หมาไม่กัด”, “อาบน้ำร้อนมาก่อน” และ อื่นๆ เราถูกสอนมาตั้งแต่เด็กว่าให้เชื่อฟังคนที่มีประสบการณ์ อย่างไม่ลืมหูลืมตา
ผมเองก็รู้สึกว่าตัวเองโดนสอนมาแบบนี้ตลอด แต่หลังจากที่ได้ไปลงเรียนวิชา ปรัชญาวิทยาศาสตร์ หรือ Philosophy of Science ที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี เวียนนา (Vienna University of Technology) เมื่อปี 2013 ก็เริ่มทำให้ แนวความคิดของผมเปลี่ยนไป
ที่นั่น นักศึกษาปริญญาเอก (คิดว่าระดับปริญญาโทและตรี ก็น่าจะเป็นแบบเดียวกัน) นักศึกษาทุกคน มีความคิดเป็นของตัวเอง เชื่อในสิ่งที่ตัวเองคิดวิเคราะห์ ค้นคว้า และ วิจัยมา บรรยากาศภายในห้องจึงได้เห็นการโต้วาที หรือ Debate กันอย่างเมามันส์
ยิ่งกว่านั้นนอกจากนักศึกษาจะ Debate เรื่องต่างๆ ระหว่างนักศึกษากันเองแล้ว พวกเขายัง Debate กับอาจารย์ผู้สอนอย่างเต็มที่อีกด้วย โดยผู้สอนในครั้งนั้นคือ Prof.Christiane Floyd ซึ่งเป็น ศาสตราจารย์ที่ทรง คุณวุฒิ เป็น ภรรยา ของ Prof. Robert Floyd ผู้คิดค้นอัลกอริทึม สำหรับ หา Shortest Path ในทฤษฏี กราฟ
หากเป็นเมืองไทย เราคงไม่สามารถ Debate อย่างเต็มที่กับบุคคลระดับศาตราจารย์ได้แน่ๆ ไม่อยากคิดเลยว่าจะเป็นอย่างไรหากเราทำการ Debate ในระดับเดียวกับนักศึกษาที่นั้น
หากฝ่ายใดที่ Debate แล้วแพ้ ก็จะยอมรับความคิดของอีกฝ่ายแต่โดยดี ก็มีไม่ยอมบ้าง หากไม่ยอม คนที่แพ้ก็ไปหาข้อมูลมาเพิ่มเติม เพื่อมา Debate กันต่อไป
ทั้งหมดนั้น ในห้องเรียน Nothing Personal เรียนเสร็จก็คุยเล่นกันตามปกติ ไม่มีใครอาฆาตแค้น หรือเอาเป็นเรื่องส่วนตัวจนต้องทะเลาะกัน
การเรียนปรัชาในครั้งนั้น เปิดโลกทรรศน์จริงๆ
การที่เราคิดว่าเราถูกเสมอ…นั่นแหละคือสิ่งที่ผิด โดยเฉพาะ ถ้าเราคิดว่า เราถูก เพราะ เพียงแค่เรามีประสบการณ์หรือ เคย ผ่านเหตุการณ์นั้นๆ มาก่อน
เกิดก่อน ใช่ว่าจะถูก
ประสบการณ์เยอะ ใช่ว่าจะถูก
ยศยิ่งใหญ่ ใช่ว่าจะถูก
ผมจึงขอสัญญากับตัวเองครับ ว่าจะไม่ทำตัวเป็นผู้ใหญ่ที่คิดว่าตัวเองถูกเสมอ และตัดสินใครๆ จากประสบการณ์เล็กน้อยของตัวเองแน่นอน
ต่างคน ต่างมีความคิด ต่างเจออะไรมาไม่เหมือนกัน!
22 กรกฏาคม 2558
11.09 PM. Bangkok