บทเรียนจากคำว่า “เสียดาย” ของอดีตมนุษย์เงินเดือน
ขอคัดลอกจาก IT Magazine เล่มนึง มาเก็บไว้ เพื่อฝากเตือนใจมนุษย์เงินเดือนรุ่นใหม่ให้หลีกเลี่ยงหรือป้องกัน
เสียดายไม่ตั้งใจทำงานในช่วงแรกของชีวิตการทำงาน
บางคนมัวแต่ทำงานเพื่อค้นหาตัวเองว่างานที่กำลังทำอยู่นั้นใช่สิ่งที่ต้องการหรือไม่ บางคนก็ทำงานเพื่อรอโอกาสหางานใหม่ สุดท้ายชีวิตการทำงานในช่วงแรกๆ แทนที่จะมีเส้นการเรียนรู้ที่สูงชัน กลับกลายเป็นเส้นการเรียนรู้ที่แบนราบ อายุงานผ่านไป แต่อายุใจที่มีต่องานยังอยู่เท่าเดิม
ถ้าย้อนกลับไปได้ อยากจะตั้งใจและขยันทำงานตั้งแต่ปีแรกที่เข้ามาทำงาน และจะกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ที่รับผิดชอบ และจะลดการเที่ยวและดื่มให้น้อยลงเพราะตอนนี้ผลกรรมเริ่มสนองให้เห็นแล้วว่าการใช้ชีวิตแบบประมาทนั้นส่งผลต่อสุขภาพร่างกายระยะยาว
เสียดายที่ไม่ได้ศึกษาต่อ
หลายคนคิดย้อนกลับไปว่า ถ้าวันนั้นเรียนต่อในระดับนั้นระดับนี้ ป่านนี้คงจะประสบความสำเร็จไปมากกว่านี้แน่นอน ทำให้เสียโอกาสที่สำคัญในชีวิตการทำงาน
ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ คิดว่าจะต้องตัดสินใจเรียนตั้งแต่เพิ่งเริ่มทำงานใหม่ๆ สักปีสองปี จะยอมอดทนไปสักระยะหนึ่ง และจะเรียนให้จบก่อนที่จะเปลี่ยนงานใหม่หรือมีครอบครัว
เสียดายที่มัวแต่ทะเลาะกับเจ้านายและเพื่อนร่วมงาน
สิ่งนี้ทำให้เราเสียเวลาไปกับมันมาก ทั้งปัญหาหัวหน้า ปัญหาเพื่อนร่วมงาน วันๆ เสียเวลาของสมองไปกับการคิดถึงปัญหาคนอื่น ใช้เวลากับมันมาก เครียดกับมันบ่อย แทบจะไม่มีเวลาไปพัฒนาหรือปรับปรุงงานหรือพัฒนาตนเองเลย
ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ อยากจะคิดเสียว่าปัญหาคนเหมือนกันกับปัญหารถชนบนถนนที่เราไม่ต้องไปสนใจกับมันให้มากนัก แต่เราควารจะสนใจว่าเส้นทางที่เรากำลังจะเดินไปนั้นอยู่อีกไกลหรือไม่ เรามีเวลาเหลืออีกนานหรือไม่ ต้องคิดว่าไม่มีใครทำงานกับเราไปตลอดชีวิต และเราเองก็ไม่ได้ทำงานกับใครไปตลอดชีวิตเช่นกัน และคิดว่าถ้าเรารับปัญหาคนอื่นไม่ได้ เราคงจะก้าวขึ้นไปในตำแหน่งหน้าที่การงานที่สูงขึ้นไปไม่ได้ เพราะยิ่งสูงปัญหาคนยิ่งมากและซับซ้อนมากขึ้น
เสียดายที่เปลี่ยนงานมากไปหน่อย
เมื่อถามว่า ผลการเปลี่ยนงานบ่อยในอดีตสรุปว่าดีหรือไม่ คำตอบที่ได้ก็มีทั้งดีและไม่ดี แต่หลายคนตอบถ้าพิจารณาถึงระยะยาวแล้วอาจจะไม่เป็นผลดีมากนักเพราะประสบการณ์ในแต่ละที่นั้นน้อยเกินไป
ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ อยากจะทำงานในแต่ละที่ไม่น้อยกว่า 3 ปี เพราะน่าจะเป็นเวลาที่เราได้ครบทั้งการเรียนรู้ (Learn) การทำงาน (Perform) และการพัฒนาปรับปรุงงาน (Improve)แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอาจะต้องขึ้นอยู่กับช่วงชีวิต เพราะบางช่วงอาจจะเปลี่ยนบ่อยเพราะตลาดกำลังโต ชีวิตกำลังรุ่ง แต่บางช่วงอาจจะต้องอยู่นาน เพราะต้องหยุดพักหายใจ และสั่งสมประสบการณ์ ก่อนที่จะไต่ระดับขึ้นเพดานบนที่สูงขึ้น
เสียดายที่ไม่ตั้งใจเรียนภาษาต่างประเทศ
ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ จะเรียนภาษาโดยเฉพาะภาษาอังกฤษตั้งแต่เริ่มทำงาน และจะเลือกทำงานกับบริษัทต่างชาติตั้งแต่ต้น หรือไม่ก็อาจจะหาเงินไปเรียนต่อต่างประเทศ
เสียดายที่หาตัวเองเจอช้าไปหน่อย
มนุษย์เงินเดือนบางคนทำงานมาเป็นสิบปีแล้ว ยังหาตัวเองไม่เจอเลยว่าเป้าหมายชีวิตของตัวเองคืออะไร วันๆ ก็ตื่นขึ้นมาไปทำงาน เสร็จงานกลับบ้าน จันทร์ถึงศุกร์ทำงาน เสาร์อาทิตย์อยู่บ้าน รูปแบบเหมือนเดิมเป็นเดือนเป็นปี มารู้ตัวอีกทีก็ช้าไปเสียแล้ว
ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ อยากจะวางแผนชีวิตตัวเองตั้งแต่เริ่มทำงานว่า อีกกี่ปีจะเป็นอะไร จะทำอะไรจะต้องได้อะไร และแต่ละวันแต่ละเดือนแต่ละปี จะทำอะไร อย่างไรบ้าง
เสียดายที่ทำงานอยู่ที่ใดที่หนึ่งนานเกินไป
คนบางคนไม่ได้เปลี่ยนงานบ่อย แต่ไม่เคยเปลี่ยนงานเลย ตอนที่ทำงานอยู่รู้สึกว่าเราเป็นคนดีขององค์กรที่ไม่ยอมเปลี่ยนงานไปไหนเลย แต่พอชีวิตการทำงานผ่านเลยไป ก็รู้สึกเสียใจและเสียดายเหมือนกันที่ ชีวิตการทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมเดียว สังคมเดียว คนบางคนอยู่ที่ใดที่หนึ่งนานเกินไป ช่วงเวลาที่จะกำลังรุ่งก็ไม่ยอมเปลี่ยนงาน พอจังหวะชีวิตผ่านไปก็คิดจะเปลี่ยนงาน ก็ทำได้ยากแล้ว เพราะเงินเดือนสูง อายุเยอะ แต่ตำแหน่งต่ำ ไปสมัครตำแหน่งที่สูงเกินไปเขาก็ไม่รับ สมัครในตำแหน่งที่เท่าเดิมก็แก่กว่าคนอื่นๆ (แถมเงินเดือนเดิมสูงอีกต่างหาก)
ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ อยากจะเปลี่ยนงานในจังหวะที่เหมาะสมเพื่อปรับเพดานบินให้เหมาะสมกับอายุตัวและอายุงาน โดยไม่ต้องยึดติดว่าจะต้องอยู่ในองค์กรใดองค์กรหนึ่งนานจนเกินไปอย่างน้อยก็น่าจะนำไปเป็นคำถาม ถามตัวเองว่า เราอยากจะรู้สึกเสียดายในเรื่องนั้นเรื่องนี้เหมือนรุ่นก่อนๆ หรือไม่ ถ้าไม่เราควรจะทำอย่างไรตั้งแต่วันนี้